KengKij

เปิดผัสสะไปสู่บรรย(อ)ากาศ1

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 


อากาศหรือบรรยากาศก็คือเงื่อนไขการดำรงอยู่พื้นฐานของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทว่าในความคิดแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับการเห็นหรือดวงตาก็ทำให้ผัสสะอื่นๆ บดบังความรับรู้ที่เรามีต่อโลก นักคิดในสายสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะพวกที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) อย่าง Juhani Pallasmaa, Peter Zumthor และ Gernet Böhme2 กลับให้ความสำคัญกับการสัมผัส (touch) ในฐานะที่เป็นพื้นฐานของผัสสะอื่นๆ นักทฤษฎีสถาปัตยกรรมเหล่านี้เสนอมโนทัศน์ “บรรยากาศ” หรือ atmosphere เพื่อคัดง้างกับมโนทัศน์ว่าด้วย “พื้นที่” (space) ซึ่งสอดคล้องกับ Tim Ingold ที่ชี้ให้เห็นว่ามโนทัศน์สถานที่นั้นสร้างปัญหาใหญ่หลวง โดยเฉพาะการทำให้เรากับสถานที่เป็นสิ่งที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาดมากเกินไป3  

Pallasmaa เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการสัมผัสกับการเห็น ในขณะที่การเห็นใช้ดวงตา แต่การสัมผัสกลับใช้ผิวหนังหรือ skin ซึ่งภายใต้วิธีคิดที่ยกให้ดวงตาเป็นใหญ่แบบ Ocularcentrism ผิวหนังไม่สามารถเห็นได้ แต่สำหรับ Pallasmaa แล้ว “พวกเราจะเห็นสิ่งต่างๆ ได้ผ่านผิวหนังของเรา”4 แน่นอนว่าสำหรับเด็กทารกที่ตาเนื้อยังไม่เปิด พวกเขาสัมผัสโลกผ่านการสัมผัสด้วยผิวหนังซึ่งเต็มไปด้วยความร้อน เย็น แข็ง หรืออ่อนนุ่ม หากปราศจากการสัมผัสของผิวหนังแล้ว ทารกจะไม่มีทางเรียนรู้ที่จะใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ของตนเองได้ การสัมผัสซึ่งเชื่อมต่อระหว่างร่างกายของเรากับสิ่งที่อยู่ภายนอกผ่านหน้าจอของผิวหนังก็คือจุดที่ทั้งเชื่อมต่อเรากับโลก พร้อมๆ กับที่มันก็แยกเราออกจากโลกและคนอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน เมื่อทารกเติบโตขึ้นผ่านการเปิดตาเนื้อ พวกเขาจะเริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆ และถูกสอนให้ใช้ตามากขึ้นในการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ความต่างระหว่างการใช้ตากับการสัมผัสด้วยผิวหนังจึงสามารถถูกเข้าใจได้ในฐานะตัวตน 2 ระดับ นั่นคือ ตัวตนในระดับจิตไร้สำนึกหรือ unconsciousness กับตัวตนที่เราสำนึกรู้ (consciousness) ซึ่งในระดับของการสำนึกรู้ได้ก่อรูปร่างของตัวตนและอัตตาของตัวเราให้แยกขาดออกจากผัสสะอื่นๆ และการสัมผัสด้วยผิวหนัง ส่งผลให้การสัมผัสด้วยผิวหนังถูกผลักให้ถอยห่างออกจากสถานะอันเป็นพื้นฐานจุดตั้งต้นของผัสสะอื่นๆ ที่ตามมาภายหลัง ซึ่ง Pallasmaa ชี้ว่า การสถาปนาอำนาจของดวงตาและความเป็นตัวเป็นตนของจิตสำนึกได้ทำให้การสัมผัสด้วยผิวหนังอยู่ในสถานะของ “ชายขอบ” (periphery) ส่วนดวงตากลับกลายมามีสถานะเป็นศูนย์กลาง (center) 

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับการเห็นก็มิได้มีความเป็นสากล ในสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตกนั้นกลับมิได้ผลักไสการสัมผัสด้วยผิวหนังออกไปให้เป็นชายขอบ มีเพียงสังคมตะวันตกเท่านั้นที่ก่อรูปความรู้ของตนเองขึ้นมาผ่านการสถาปนาอำนาจของดวงตาให้เป็นศูนย์กลางเพียงหนึ่งเดียว5 ดังที่ Peter Sloterdijk ชี้ว่า “ดวงตาหรือการเห็นก็คืออวัยวะต้นแบบของวิชาปรัชญา ความลึกลับของดวงตานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากที่มันสามารถมองเห็นได้เท่านั้น ทว่ามันยังสามารถมองเห็นว่าตัวมันเองกำลังมองเห็นได้ด้วย นี่คือสาเหตุที่ดวงตามีความพิเศษเหนืออวัยวะรับรู้อื่นๆ ของร่างกาย ส่วนประกอบสำคัญของการคิดเชิงปรัชญาก็คือ ภาพที่สะท้อนในดวงตา การมองกลับไปกลับมากับตัววัตถุที่ถูกมอง และการมองเห็นว่าตัวเองกำลังเห็น… การเห็นว่าตัวเองเห็นก็ทำให้สิ่งต่างๆ ปรากฏได้”6 ในแง่นี้ “การเห็นว่าตัวเองเห็น” (seeing-oneself see) ก็คือคุณสมบัติสำคัญของวิธีคิดแบบตะวันตกที่สถาปนาดวงตาขึ้นมาในฐานะเครื่องมมืออันประเสริฐสูงสุดของการเห็นเหนือผัสสะอื่นๆ พร้อมๆ กับที่การเห็นว่าตัวเองเห็นก็มิได้ไม่เพียงแค่การเห็นตัววัตถุภายนอกที่ตาเห็นเท่านั้น แต่กลับเป็นการเห็นตัวเอง “การเห็นตัวเอง” จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเห็น เพราะการเห็นวัตถุภายนอกก็ย่อมมีเป้าหมายเพื่อทำให้ตัวเราเห็นว่าตัวเราเองเป็นใครผ่านการเห็นสิ่งอื่นๆ ในแง่นี้วัตถุภายนอกที่ถูกเห็นจึงไม่ได้สำคัญไปกว่าการยืนยันหรือการตอกย้ำความพิเศษและเฉพาะตัวของตัวเองที่เป็นผู้เห็น

การเห็นตัวเองในแง่นี้จึงเป็นสภาวะที่อยู่เหนือกาลเวลา เพราะตัวเองย่อมดำรงอยู่ก่อนที่จะเห็นวัตถุภายนอก การเห็นตัวเองดังกล่าวนี้เองที่ทำให้สถานะของตัวเองหรือ “ฉัน” เป็นสิ่งที่สามารถถูกเข้าใจอย่างแยกขาดจากสิ่งที่ถูกเห็นได้ประหนึ่งว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุที่ถูกเห็นก็ได้ ความหมกมุ่นกับดวงตาหรือการเห็นก็พุ่งมาสู่จุดสูงสุดเมื่อโลกตะวันตกทำให้การสูญเสียดวงตาหรือตาเนื้อกลายเป็นการสูญเสียการเห็น เพราะคุณไม่มีทางจะเห็นได้หากปราศจากตาเนื้อที่เป็นผู้เห็น การสูญเสียดวงตาจึงไม่ได้เป็นเพียงการสูญเสียการเห็น แต่กลับหมายถึงการสูญเสียตัวตนของ “ตัวเอง” ไปอย่างถาวร หรืออย่างน้อยตัวตนของเราก็มีสถานะที่พิการ/ขาด/แหว่งวิ่นไปจากความสมบูรณ์ที่ผูกโยงกับดวงตาหรือตาเนื้อ7 กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว สำหรับ Pallasmaa ในขณะที่อำนาจของดวงตาหรือการเห็นหมกมุ่นกับการจัดวางสิ่งต่างๆ ที่ถูกเห็นลงบนพื้นที่ (space) แต่ในอีกระดับหนึ่ง การทำให้วัตถุดำรงอยู่อย่างแน่นอนบนพื้นที่หนึ่งๆ ที่ถูกเห็นได้ก็กลับกลายมาเป็นฐานรองรับให้จิตสำนึกหรือตัวตนของมนุษย์กลายเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับพื้นที่และเวลา นั่นคือ ตัวตนของมนุษย์กลายมาเป็นสิ่งที่มีสถานะของความเป็นนิรันดร์ที่ข้ามพ้นกาละและเทศะทั้งปวง8 เวลาของมนุษย์ที่โยงยึดกับการเห็นจึงกลายเป็นเวลาปัจจุบันเสมอ (perpetual present) ซึ่งเป็นปัจจุบันหรือ present ในความหมายที่มันระบุถึงความเป็นปัจจุบัน พร้อมๆ กับที่มันก็หมายถึงการปรากฏ (presence) ด้วยในเวลาเดียวกัน9 เพราะสิ่งที่ปรากฏย่อมเป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบัน และสิ่งที่เป็นปัจจุบันย่อมเป็นสิ่งที่ปรากฏ นี่คือสาเหตุที่สำหรับคนตาดีแล้ว คนตาบอดก็คือคนที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน พวกเขาอยู่กับอดีตและความทรงจำ ส่วนคนตาดีเท่านั้นที่สามารถบอกได้ว่าพวกเขาอยู่กับปัจจุบันและพวกเขาปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  

กลับมาที่ประเด็นของการสัมผัสของผิวหนัง Pallasmaa อาศัยความคิดของ Maurice Merleau-Ponty ที่ให้ความสำคัญกับ “ร่างกาย” (body) ว่าเป็นปริมณฑลของผัสสะและประสบการณ์ ดังที่เขาชี้ว่า “ฉันมีประสบการณ์เกี่ยวกับตัวฉันผ่านการอยู่ในเมือง และเมืองก็เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ผ่านประสบการณ์ที่แนบสนิทกับตัวของฉัน เมืองและร่างกายของฉันต่างก็เสริมเติมและนิยามซึ่งกันและกัน ฉันอาศัยอยู่ในเมืองและเมืองก็อาศัยอยู่ในตัวฉัน”10 ในแง่นี้ ร่างกายจึงเป็นองค์รวมและผูกผัสสะต่างๆ เข้ามาหากัน ซึ่งสลายเส้นแบ่งระหว่างการปรากฏกับการไม่ปรากฏ ความใกล้กับระยะห่าง และผัสสะกับจินตนาการ11 ซึ่งการสลายเส้นแบ่งดังกล่าวนี้ก็ทำให้ผัสสะของมนุษย์สามารถยืดขยายออกไปได้อย่างเป็นอนันต์ มากกว่าจะถูกจำกัดอยู่เพียงเส้นกั้นระหว่างตัวเรากับสิ่งที่ถูกเห็นหรือถูกจำกัดอยู่ในกล่องและกรอบของการจัดจำแนกแยกแยะอันเป็นนามธรรมเท่านั้น  

สัมผัสอันเป็นอนันต์ของร่างกายจึงมีมิติในแง่ของความลึกในตัวมันเอง มากกว่าแค่การมองภาพสองหรือสามมิติ แต่สัมผัสสามารถเกิดโดยปราศจากแสงหรือเกิดในความมืดได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในเงาหรือความมืดแบบ chirascuro ซึ่งทำให้ความมืดเป็นผู้ให้กำเนิดแก่รูปร่างและวัตถุมากกว่าจะเป็นในทางกลับกัน ในขณะที่ความสว่างหรือแสงที่ถูกยกย่องอย่างมากจากวิธีคิดที่ทำให้ดวงตาเป็นใหญ่นั้นมุ่งไปสู่ความเจนจัดและชัดเจน ความมืดของการสัมผัสของร่างกายกลับเป็นความคลุมเครือและเปิดให้เกิดการจินตนาการ พร้อมๆ กับที่มันก็เปิดให้เกิดความสมานฉันท์อยู่ร่วมกันระหว่างสรรพสิ่งที่ดูไม่ควรจะอยู่ร่วมกันได้ด้วย12 ในขณะที่การเห็นมุ่งไปสู่การแยกแยะ การสัมผัสก็มุ่งไปสู่การรวมและร่วมกัน ในขณะที่การเห็นต้องมีทิศทาง แต่สัมผัสกลับเป็นไปได้รอบทิศทางหรือไม่มีทิศทาง 

การสัมผัสในที่นี้จึงไม่ใช่การใช้ผิวหนังแต่เพียงอย่างเดียวในแบบที่เรามักจะแยกผัสสะต่างๆ ออกจากกัน แต่การสัมผัสหมายถึงการผูกหรือบูรณาการทุกผัสสะเข้ามาหากันและขึ้นต่อกันและกัน เพราะเมื่อเราสัมผัส เราก็อาจจะได้ยินเสียงหรือรู้สึกถึงรส เพราะเมื่อเราเห็น เราก็อาจจะได้กลิ่นหรือรับรู้ถึงสัมผัสของสิ่งๆ นั้นได้ด้วยในเวลาเดียวกัน ข้อเสนอของ Pallasmaa จึงไม่ได้นำไปสู่การแยกระหว่างร่างกายกับจิต หรือการแยกระหว่างตัวฉันกับคนอื่นแบบแยกขาด แต่วางอยู่บนสภาวะที่คลุมเครือและทมึนมัวอยู่ตลอดเวลา เพราะสภาวะทมึนมัวดังกล่าวก็ทำให้ผัสสะทุกส่วนสามารถเปิดขึ้นต่อโลกได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเราจะเห็นข้อเสนอแบบเดียวกันนี้ในงานของ François Jullien13 ที่ชี้ให้เห็นว่าในภูมิปัญญาจีนโบราณนั้น การแยกระหว่างองค์ประธานกับวัตถุมิได้ดำรงอยู่ซึ่งต่างจากโลกตะวันตก จีนให้ความสำคัญกับความไม่ชัดเจน การไม่ปรากฏ การพร่ามัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการหาความรู้แบบที่เรียกว่า “การหยีตา” คือไม่ใช่การเปิดตาให้โพลงเมื่อมองสิ่งต่างๆ แต่ใช้การหยีตาเพื่อลดความชัดเจนของภาพตรงหน้า และเมื่อความชัดเจนของภาพตรงหน้าลดลง ผัสสะอื่นจะถูกเปิดให้ทำงานได้มากขึ้น

กล่าวดังนี้แล้ว ความว่างเปล่า (emptiness) จึงมิได้เป็นสิ่งที่ปราศจากสิ่งอื่นๆ แต่ความว่างเปล่ากลับสามารถบรรจุสรรพสิ่งเข้ามาได้อย่างไม่จำกัดมากกว่าสภาวะของความเต็ม (fullness)14 ดังงานศึกษาเรื่องอากาศ (air) ของ David Abram15 ที่เขาชี้ว่า สำหรับอารยธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกทั้งหลาย อากาศคือองค์ประกอบสำคัญที่บรรจุสรรพชีวิตอยู่ภายใน โดยที่อากาศเองไหลเวียนและซึมแทรกอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่งมากกว่าที่อากาศจะเป็นเพียงความว่างเปล่า ดังเช่น การหายใจซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตของสิ่งต่างๆ แต่ลมหายใจหรืออากาศที่หายใจเข้าและออกกลับเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏ (absent) ในตัวมันเอง การไม่ปรากฏของอากาศปรากฏหรือทำงานผ่านสิ่งอื่นๆ ทั้งในฐานะสิ่งที่ไหลเวียนอยู่ในช่องว่างและสิ่งที่มีสารัตถะของตัวมันเอง สำหรับชนเผ่าที่มีความเป็น animism ทั้งหลาย อากาศยังมีสถานะเป็นสิ่งที่มีชีวิตด้วย อากาศบรรจุลมหายใจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทะลุผ่านและแทรกซึมเข้ามาในชีวิตทั้งหมดของสิ่งต่างๆ ดังที่ Abram ชี้ว่า 

“ความน่ายำเกรงของอากาศมาจากลักษณะของมันที่มีตัวตนอยู่ทุกหนแห่งแต่มองไม่เห็น ความสามารถที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและชีวิตต่อธรรมชาติที่เรามองเห็น และในขณะเดียวกันตัวมันเองกลับเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้”16 

การรับรู้ไม่ได้หรือสภาวะของการไม่ปรากฏก็ไม่เท่ากับการไม่มีอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ เช่นเดียวกันกับการดำรงอยู่/มีอยู่ก็ไม่ได้แปลว่ามันต้องปรากฏหรือต้องถูกรับรู้ได้ หากปราศจากการดำรงอยู่ของอากาศ สิ่งต่างๆ ก็ย่อมจะตั้งอยู่หรือดำรงอยู่ไม่ได้ในตัวมันเอง อากาศจึงเป็นเสมือนความว่างเปล่าที่ดำรงอยู่และจำเป็น อากาศเป็นพื้นที่ระหว่าง (in-betweenness) ระหว่างสิ่งต่างๆ หากปราศจากพื้นที่ระหว่างหรือช่องว่างระหว่างสิ่งต่างๆ สรรพสิ่งก็ย่อมจะสัมพันธ์กันไม่ได้ในตัวมันเอง เช่นเดียวกับที่ Maurice Blanchot พยายามชักชวนให้เรากลับมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ระหว่างตัวอักษรและพื้นที่ระหว่างบรรทัดในฐานะที่เป็นเงื่อนไขอันว่างเปล่าแต่จำเป็นที่ทำให้ตัวอักษรแต่ละตัวสามารถประกอบรวมและสร้างความหมายได้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะอ่านตัวอักษรเข้าใจหากปราศจากช่องว่าง/การเว้นระหว่างตัวอักษรและบรรทัดต่างๆ ในงานเขียน17 ในแง่นี้ ช่องว่างระหว่างบรรทัดก็คือผู้ให้กำเนิดตัวอักษรมากกว่าที่จะเป็นไปในทางกลับกัน เฉกเช่นเดียวกับที่ความมืดเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดแสงสว่าง และการไม่ปรากฏก็คือบรรพบุรุษของสิ่งที่ปรากฏ 

การเผชิญหน้ากับอากาศทั้งในฐานะเงื่อนไขของการมีชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตต่างๆ จึงเรียกร้องให้เราต้องทบทวนถึงสถานะของผัสสะ การก้าวข้ามดวงตาไปสู่การเปิดผัสสะเพื่อรับรู้สิ่งที่ไม่ถูกเห็นหรือไม่ปรากฏก็คือข้อเรียกร้องสำคัญภายใต้บริบทแห่งมนุษยสมัย (Anthropocene) ที่มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศกลายมาเป็นปฏิปักษ์กันแบบในปัจจุบัน


1 สำหรับประกอบนิทรรศการศิลปะ Art for Air จัดโดยสภาลมหายใจ และหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2564 

2 ดู Christian Borch ed., Architectural Atmospheres: On Experience and the Politics of Architecture (Basel: Birkhauser, 2014) รวมถึง Juhani Pallasmaa, The Eye of the Skin: Architecture and the Senses (West Sussex: John Wiley & Sons, 2012) และ Peter Zumthor, Atmospheres (Basel: Birkhauser, 2006) 

3 Tim Ingold, “Against space: place, movement and knowledge,” in Being Alive: Essays on Movement, Knowledge and Description London and New York: Routledge, 2011), pp. 145-155.

4 Juhani Pallasmaa, The Eye of the Skin, p. 12. 

5 ดูเพิ่มเติม G. E. R. Lloyd, Cognitive Variations: Reflections on the Unity & Diversity of the Human Mind (Oxford and New York: Oxford University Press, 2007) และ François Jullien, Living Off Landscape: or the Unthought-of in Reason (London and New York: Rowman & Littlefield International, 2018) 

6 Peter Sloterdijk, Critique of Cynical Reason (Minneapolis and London: University of Minnesota Press, 1987), p. 145. 

7 Juhani Pallasmaa, The Eye of the Skin, pp. 21-22.  

8 Juhani Pallasmaa, The Eye of the Skin, p. 23. 

9 ผู้วิจัยได้ความเข้าใจเรื่องนี้จาก Part 1 ของ Jacques Derrida, Of Grammatology (Delhi: Motilal Banarsidass, 1994) 

10 Juhani Pallasmaa, The Eye of the Skin, p. 43. 

11 Juhani Pallasmaa, The Eye of the Skin, p. 49. 

12 Juhani Pallasmaa, The Eye of the Skin, p. 51.  

13 François Jullien, The Great Image Has No Form, or On the Nonobject through Painting (Chicago and London: The University of Chicago Press, 2012) 

14 François Jullien, The Great Image Has No Form, pp. 75-90. 

15 David Abram, “The Forgetting and Remembering of the Air” in Judha Su and Mi You eds., Storytellers Before the Dawn: An Anthology (Bangkok: Ghost Foundation and OPEN FIELD, 2018), pp. 133-196.

16 สำนวนแปลของ วีระ แสงสิทธิ์ ใน จุฑา สุวรรณมงคล และมิ ยู บก., นักเล่าเรื่องก่อนรุ่งสาง: บทความคัดสรร (กรุงเทพฯ: Ghost Foundation and OPEN FIELD, 2561), หน้า 169.

17 Maurice Blanchot, The Writing of the Disaster (Lincoln and London: University of Nebraska Press, 1995)